top of page

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับกีฬาเรือใบ

ความสนพระทัยในกีฬาเรือใบของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มต้นมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงต่อเรือใบลำแรกด้วยพระองค์เอง ครั้งยังทรงศึกษา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่เนื่องจากต้องเสด็จฯ กลับประเทศไทย เรือใบลำดังกล่าวจึงยังมิทันได้ทรงใช้

ต่อมาเมื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะทรงกรรเชียงเรือออกไปด้านหน้าพระราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็น ม.จ. ภีศเดช รัชนี ทรงเรือใบเล็กตามเสด็จฯ จึงทรงให้ม.จ. ภีศเดชเข้าเฝ้า และทรงมีพระปฏิสันถารกับม.จ. ภีศเดช เกี่ยวกับความเป็นมาของเรือใบลูกลม การออกแบบต่อเรือ และการวางผังต่างๆ 

 

พระองค์ทรงต่อเรือใบลำที่สองในห้องโถงชั้นล่างของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นเรือใบชนิดเอ็นเตอร์ไพรซ์ชื่อราชปะแตนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2507 จากนั้นทรงเจ้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย แต่ปรากฏว่าทรงไม่ได้รับชัยชนะ เนื่องจากความไม่เข้าใจกันระหว่างสองผู้เล่น จึงทรงเปลี่ยนมาเล่นประเภทโอ.เค. ซึ่งมีที่นั่งเดียว และพระราชทานนามว่า นวฤกษ์

เรือใบนวฤกษ์ลงแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 หรือกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบันเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 คลื่นลมที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทำให้พระองค์ทรงอ้อมผิดทุ่น กรรมการจัดการแข่งขันจึงตัดสิทธิ์ไม่ยิงปืนถวายเมื่อทรงเข้าเส้นชัย พระองค์ก็สรวลรับกติกาโดยดุษฎี จึงทรงได้รับเหรียญทองคู่กับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

เรือใบประเภทโอ.เค.ลำต่อมาที่ทรงสร้างมีชื่อว่า Vega ใช้ในการเสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทรงมาขึ้นฝั่งที่หาดเตยงาม ในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือของเรือลำนี้เป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกล และการเสด็จฯ ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันเรือใบประเพณี ระหว่างทีมจิตรลดากับทีมราชนาวีอีกด้วย

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์เดียวของทวีปเอเชียที่ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาระดับชาติ จนได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กีฬาโลก ทรงได้รับเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิก ที่เรียนว่าเหรียญอิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด (ทอง) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530

 

นอกจากนี้ยังทรงคิดค้นออกแบบสร้างเรือใบที่ทรงเรียกเองว่า เรือใบแบบมดขึ้นมา ทรงปรับปรุงจากที่เคยมีขนาดใหญ่ ตรงกลางป่อง แล่นได้ช้าให้มีลักษณะเพรียว และหัวแบนเหมือนปลากระเบน เพื่อให้เล่นแหวกน้ำได้ดีขึ้น ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า เรือซูเปอร์มด โดยเรือใบตระกูลมดลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบ คือเรือใบแบบไมโครมด ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบ เพราะสามารถแล่นได้เพียงคนเดียว การสร้างเรียกก็ใช้เพียงแค่ไม้อัดขนาด 4 คูณ 8 ฟุตเท่านั้น

ความสนพระทัยของพระองค์ในกีฬาเรือใบมิได้หยุดยั้งเพียงนี้ ทรงรับสมาคมแข่งเรือใบและสโมสรเรือใบราชวรุณในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 8 และครั้งที่ 13 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเสด็จพระราชดำเนินเปิดการแข่งขันทุกครั้ง

 

นับเป็นความยิ่งใหญ่และความภาคภูมิใจของวงการกีฬาเรือใบอย่างหาที่สุดมิได้

ข้อมูลจากนิตยสารกินรี ฉบับธันวาคม 1996 
เรื่อง : ทัศนีย์ ยาวะประภาษ
ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ฝ่ายภาพส่วนพระองค์ พระตำหนักสวนจิตรลดา

bottom of page