top of page
Screen Shot 2561-07-26 at 14.26.42.png

     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย แต่เดิมเป็นโรงเก็บเรือรบและเรือพระที่นั่ง อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเก็บเรือและเรือพระราชพิธี ถูกระเบิดได้รับความเสียหาย ในปี พ.ศ.2490 รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรทำการซ่อมแซมดูแลรักษาเรือพระราชพิธีที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค รวมทั้งเรืออื่นๆ ที่ใช้ในพระราชพิธี  ซึ่งล้วนแต่เป็นเรือที่มีประวัติความสำคัญมาแต่โบราณ ซึ่งยังคงความสวยงามจากฝีมือช่างอันล้ำเลิศและทรงคุณค่าในงานศิลปกรรม ประการสำคัญ คือยังสามารถนำมาใช้ในการพระราชพิธีต่างๆสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและเป็นเรือพระที่นั่งในพระมหากษัตริย์ไทยที่มีแห่งเดียวในโลกด้วยพื้นที่อันจำกัด ภายในพิพิธภัณฑ์ จึงจัดแสดงเรือพระราชพิธีได้เพียง 8 ลำ จากเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราชลมารค  จำนวน 52  ลำ  ส่วนเรือรูปสัตว์ 6 ลำ นำไปฝากไว้ที่ท่าวาสุกรี  ส่วนเรือดั้งและเรือแซง จำนวน 38 ลำ เก็บรักษาไว้ที่แผนกเรือพระราชพิธี กองเรือเล็ก กองทัพเรือ ภายใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี นอกจากจำเก็บเรือพระที่นั่งและเรือต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ฯ แล้วยังมีเครื่องประกอบและสิ่งของเครื่องใช้ในพระราชพิธีต่างๆ จัดแสดงอยู่ด้วย

Screen Shot 2561-07-26 at 14.32.59.png

2. เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

ชื่อเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อนนฺตนาคราชะ มาจากคำ 3 คำ คือ อนนฺตะ (แปลว่า ไม่สิ้นสุด นิรันดร) นาคะ (แปลว่า นาค หรือ งู) ราชะ (แปลว่า เจ้านาย หรือพระราชา) ดังนั้นคำนี้จึงแปลได้ว่า อนันตะ ราชาแห่งนาค หรืองูทั้งหลาย  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 - 2394) แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 (พุทธศักราช 2394 - 2411) เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 (พุทธศักราช 2453 - 2468) และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน พุทธศักราช 2457 มีความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 87 เซนติเมตร ใช้ฝีพาย 54 คน เจ้าหน้าที่ประจำเรือ 18 นาย คือ นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนถือบังสูรย์-พัดโบก-พระกลด 3 คน และคนเห่เรือ 1 คน

Screen Shot 2561-07-26 at 14.39.16.png

1. เรืออสุรวายุภักษ์

ชื่อเรือลำนี้มาจากคำภาษาสันสกฤต มีความหมายดังนี้ อสุรวายุภักษ์ แปลว่า “อสูรผู้มีลมเป็นอาหาร” คือมีร่างกายเป็นนก มีหัวหรือหน้าเป็นยักษ์ ไม่ทราบปีที่สร้าง ทำการซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2524 – 2525 มีขนาดกว้าง 2.03 เมตร ยาว 31 เมตร ลึก 0.62 เมตร ใช้ฝีพาย 40 นาย เจ้าหน้าที่ประจำเรือ 17 นาย คือนายเรือ 1 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 คน และคนตีกลองชนะ 10 คน

Screen Shot 2561-07-26 at 14.35.30.png

3. เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

ชื่อเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิดซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก คำภาษาสันสกฤตคือ ภุชงฺคะ มีความหมายเดียวกันกับ นาคะ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 (พุทธศักราช 2411 - 2453) มีความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 91 เซนติเมตร น้ำหนัก 7.7 ตัน กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 61 คน เจ้าหน้าที่ประจำเรือ 14 นาย คือ นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือ โดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่น ๆ

Screen Shot 2561-07-26 at 14.47.14.png
Screen Shot 2561-07-26 at 14.47.19.png

4. เรือครุฑเหินเห็จ

ชื่อเรือลำนี้สะท้อนถึงอิทธิพลคัมภีร์ปุราณะของอินเดียที่มีต่อคตินิยมและศิลปกรรม ไทย ตามคัมภีร์ปุราณะครุฑเป็นเจ้าแห่งนกทั้งหลาย หรือเทพปักษิน ซึ่งผูกพันกับพระวิษณุ เพราะพระวิษณุทรงท่องไปในสวรรค์โดยมีครุฑเป็นพาหนะ  โขนเรือเป็นไม้จำหลักรูปครุฑจับนาค ๒ ตัวชูขึ้น ลงรักปิดทองประดับกระจก เรือครุฑเหินเห็จ ครุฑกายสีแดง ไทยเราเรียกว่า ครุฑยุดนาค   เรือลำนี้สร้างครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(พุทธศักราช 2325 - 2352) ใช้ชื่อว่า เรือครุฑเหิรระเห็จ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับความเสียหาย กองทัพเรือและกรมศิลปากรจึงร่วมกันบูรณะเรือสองลำนี้ใหม่ โดยใช้หัวเรือเดิมมาประกอบ มีความยาว 28.58 เมตร กว้าง 2.10 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 56 เซนติเมตร มีกำลังพลประกอบด้วยฝีพาย 34 คน เจ้าหน้าที่ประจำเรือ 7 นาย คือ นายเรือ 1 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 คน

Screen Shot 2561-07-26 at 14.49.49.png
Screen Shot 2561-07-26 at 14.49.54.png

5. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2454 โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์หัวเรือพระที่นั่งนี้มีโขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียก ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน เจ้าหน้าที่ประจำเรือ 14 นาย คือ นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่น ๆ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก จากองค์กรที่เรียกว่า World Ship Trust เมื่อพุทธศักราช 2535

Screen Shot 2561-07-26 at 14.53.31.png

7. เรือกระบี่ปราบเมืองมาร

 โขนเรือกระบี่ปราบเมืองมาร เป็นรูปวานร (ลิง) ร่างกายสีขาว ไม่สวมเครื่องประดับหัว ส่วนเครื่องประดับกายและผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก ชื่อเรือและลักษณะโขนเรือเช่นนี้ทำให้ทราบว่าเป็นรูปของหนุมาน ทหารเอกของพระราม ขุนกระบี่ผู้นำกองทัพวานรต่อสู้กับกองทัพของทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกา ความชั่วร้ายของทศกัณฐ์ทำให้เรียกกรุงลงกาว่า เมืองมาร ถือเป็นฝ่ายอธรรม สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ปรากฏชื่อเรือชัดเจนในเอกสารสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พุทธศักราช 2394 - 2411) เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานครสร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีลำนี้มาก ดังนั้นในพุทธศักราช ๒๕๐๘ กองทัพเรือและกรมศิลปากรจึงร่วมกันปฏิสังขรณ์เรือลำนี้ใหม่โดยใช้หัวเรือเดิมมาประกอบ มีความยาว 26.80 เมตร กว้าง 2.10 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 51 เซนติเมตร ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 36 คน เจ้าหน้าที่ประจำเรือ 17 นาย คือ นายเรือ 1 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 คน และคนตีกลองชนะ 10 คน

6. เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

นารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกันกับ พระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณ ก็เป็นชื่อเรียก ครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ ส่วนที่เติมสร้อยว่า รัชกาลที่ 9 เพื่อสื่อให้ประจักษ์ว่าเรือลำนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  เรือนารายณ์ทรงสุบรรณสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อพุทธศักราช 2539 ดำเนินการโดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร โขนเรือและตัวเรือจำหลักลงรักปิดทองประดับกระจก ที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ เรือมีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 1.10 เมตร ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน เจ้าหน้าที่ประจำเรือ 14 นาย คือ นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน และคนเห่เรือ 1 คน

Screen Shot 2561-07-26 at 14.55.58.png
Screen Shot 2561-07-26 at 14.58.09.png

8. เรือเอกไชยเหินหาว

เอกไชยเหินหาว เป็นเรือที่มีลักษณะคือหัวเรือเป็นรูปดั้งเชิดสูงงอนขึ้นไป ลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำรูปเหรา (อ่านเห-รา) ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนาน ลักษณะคล้ายมังกรแต่มีหัวเป็นงูหรือนาค เรือเอกไชยเหินหาว ตามรูปลักษณ์ปัจจุบัน สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (พุทธศักราช 2325 - 2352) เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานครสร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้งสองลำนี้มาก ดังนั้นในพุทธศักราช 2508 กองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันบูรณะเรือสองลำนี้ใหม่โดยใช้หัวเรือเดิมมาประกอบ  เรือลำนี้ถือว่าเป็นเรือคู่ชัก หมายความว่าใช้เป็นเรือชักลากเรือพระที่นั่ง เช่น ชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เมื่อน้ำเชี่ยวหรือต้องการให้แล่นเร็วขึ้น และเป็นเรือคู่นำหน้าเรือพระที่นั่ง ต่อมาใช้เป็นเรือสำหรับให้ข้าราชการชั้นสูงนั่ง เรือแต่ละลำมีความยาว 27.50 เมตร กว้าง 1.97 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 60 เซนติเมตร แต่ละลำใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 38 คน เจ้าหน้าที่ประจำเรือ 6 นาย คือ นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน

สำหรับใครที่สนใจเข้าชม พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี สามารถเข้าชมได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ที่ตั้ง  : 80/1 ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพฯ

เปิดทำการ : 09.00 น. – 17.00 น.

ปิดทำการ 2 วัน คือ วันปีใหม่ กับ วันสงกราณ์

ค่าบริการ : คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท (สำหรับใครที่นำกล้องเข้าไปถ่ายต้องเสียอีก 100 บาท วีดีโอ 200 บาท)

เบอร์ติดต่อ : 02- 424 -0004

http://www.museumthailand.com/National_Museum_of_Royal_Barges

bottom of page