top of page

QUE VIVA BARCELONA

บาร์เซโลนา ขับเคลื่อนความเป็นไปของประเทศสเปนโดยเฉพาะด้านงานศิลป์ และเป็นเมืองต้นแบบของศิลปะ Modernism
dimitry-anikin-psGRTVdi5_Y-unsplash.jpg

บาร์เซลโลน่า Photo by Dimitry Anikin on Unsplash

บาร์เซโลนา ขับเคลื่อนความเป็นไปของประเทศสเปนโดยเฉพาะด้านงานศิลป์ และเป็นเมืองต้นแบบของศิลปะ Modernism ก่อกำเนิดสถาปนิกและอัครศิลปิน  Antoni Gaudi ผู้เป็นดั่งแม่เหล็กดึงดูดให้เหล่าสถาปนิกแห่งสหัสวรรษมาประชันผลงานกัน อาทิ Nou Camp Stadium ของ Foster + Partners และ Agbar Tower ตึกสูงเสียดฟ้าของ Jean Nouvel ที่ตั้งตระหง่านง้ำคู่โบสถ์ Sagrada Familiaไม่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด หากใครจะมองบาร์เซโลนาว่าเป็น“สวนอีเดนแห่งผู้รักงานสถาปัตยกรรมและศิลปะ”
jorge-fernandez-salas-z96i6JomMdQ-unsplash.jpg

ย่าน La Ramblas, Photo by Jorge Fernández Salas on Unsplash

รองจากปารีส บาร์เซโลนาคือเมืองในยุโรปที่นักท่องเที่ยวไปถึงมากที่สุด ทั้งบทบาทในการเป็นเมืองหลวงของแคว้นคาตาลันญ่า (Catalonia)  ด้วยความที่บาร์เซโลนาเป็นเมืองทรงเสน่ห์ในทุกแง่มุม ทำให้ผู้มาเยือนหลายคนค้นพบพื้นที่ชีวิตของตนเองหรือแทบจะตกหลุมรักในบัดดล อันเป็นเหตุที่ว่า ประชากร 7 ล้านคนในเมืองนี้มีชาวต่างชาติที่อพยพมาอาศัยอยู่มากกว่า 260,000 คน มีสิ่งใดที่คุณนึกถึงบาร์เซโลน่าได้บ้าง ศิลปะที่ยากจะหาคำบรรยายของเกาดี้ งานดีไซน์ที่แฝงอยู่ทุกมุมถนน รวมถึงความอบอุ่นแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่ชวนเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ยังไม่นับถึงอาหารท้องถิ่นที่เปิดให้ลิ้มรสตั้งแต่ในตลาดสดจนถึงร้านติดดาว
“Hola” คนขับแท็กซี่สีเหลืองดำเปล่งทักทายในแบบสแปนิช ก่อนจะพาเราเข้าสู่ตัวเมืองบาร์เซโลน่า อากาศในช่วงต้นฤดูหนาวเย็นสบายใบเมเปิ้ลสีทองแห้งหล่นตามถนนให้เห็นประปราย หลังจากเพ่งที่อยู่ของ Hotel Denit สารถีหนุ่มก็บอกเราเป็นภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงแปร่งว่า พวกคุณพักในย่านที่ดีจริงๆ เพราะอยู่ใกล้กับ La Ramblas ย่านที่คึกคักที่สุดของเมือง แล้วก็เดินถึงจัตุรัสพลาซ่า คาตาลันญ่า (Plaça de Catalunya) จุดศูนย์รวมถนนสายหลักสำคัญอันเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมชิ้นมาสเตอร์พีซของเกาดี้
vitor-monteiro-jiAv24Lc3T0-unsplash.jpg

เทอเรซที่ออกแบบโดยเกาดี้, Photo by Vitor Monteiro on Unsplash

เกาดี้มองหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือศิลปะยุคโกธิค (ปลายศตวรรษที่ 17) โครงสร้างแบบตะวันออกการเคลื่อนไหวของอาร์ตนูโวและแน่นอนที่สุดความสุขในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติซึ่งมีอิทธิพลต่อการออกแบบของเขาเป็นอย่างมาก เกาดี้เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1852 ณ หมู่บ้านทาราโกนา (Taragona) ห่างออกไปทางใต้ของบาร์เซโลน่าราว 100 กิโลเมตร เขาเข้ามาศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่ Escola Tècnica Superior d’Arquitectura ในบาร์เซโลนา ตั้งแต่ ค.ศ. 1873 – 1877 ซึ่งในยุคนั้นที่นี่ถือเป็นสถานศึกษาด้านสถาปัตยกรรมแห่งเดียวในสเปน ด้านชีวิตส่วนตัวของเขานอกจากงานศิลปะที่รัก เขายังลุ่มหลงในดนตรีรวมถึงงานเขียนของ จอห์น รัสกิน (JohnRuskin นักเขียนและนักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19)ผู้เคยกล่าวไว้ว่า “Ornament is the Origin of Architecture” อลงกรณ์คือรากฐานของสถาปัตยกรรม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนส่งผลต่อการสร้างงานศิลปะในแบบเกาดี้ทั้งสิ้น

การเดินทางในบาร์เซโลน่าสะดวกสบายด้วยเมโทรหรือรถไฟใต้ดินทุกคนจึงสามารถไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ได้แบบไม่ต้องง้อแท็กซี่เพราะเมื่อมาเยือนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ นักท่องเที่ยวเช่นเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ต้องทำใจให้ได้ว่าอยู่ ๆ พวกพี่เขาจะนึกอยากหยุดประท้วงแรงงานกันขึ้นมาก็ทำได้ แต่ที่ทำเอาเรางงหนักก็เมื่อได้เห็นกลุ่มคนยืนรอคิวกันยาวเหยียดประหนึ่งม็อบสงบ สอบถามได้ความว่า กำลังต่อคิวเพื่อขอทะเบียนรถใหม่ ให้อดขำปนเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจของบ้านเขาคงเหมือนบ้านเราที่ว่าแย่แค่ไหนแต่ก็ยังมีเศรษฐีออกรถใหม่กันคึกคัก
ruggiero-calabrese-j1iq-dE3mig-unsplash.jpg

Casa Batlló , Photo by Ruggiero Calabrese on Unsplash

ทัวร์ชมผลงานเกาดี้แบบ Gaudi Plus Tour (Bcnshop.barcelonaturisme.com) มีการจัดพาชมโบสถ์ Church of Colònia Güell ในนิคม Colonia Güell Crypt ที่เกาดี้ได้สร้างไว้ โดยห่างออกจากเมืองไปราว 14 กิโลเมตร เริ่มจากตอนเช้าพาชมบ้านสีสันสดใส Casa Batlló  ที่ Paseo de Gracia ถนนสุดหรูในย่าน L’Eixample หนึ่งในย่านพิเศษสุดของบาร์เซโลน่า ซึ่งในอดีตเป็นย่านของมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มักประชันความงดงามคฤหาสน์ของตนอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งในนั้นคือเจ้าของโรงงานสิ่งทอ Don Josep Batlló ซึ่งเกาดี้ได้เนรมิตความมหัศจรรย์มอบรูปโฉมใหม่ในปี 1903 เพิ่มชั้นจากของเดิมอีก 2 ชั้นและเพิ่มส่วนชั้นดาดฟ้าไว้เป็นเทอเรซชมวิว โดดเด่นด้วยการนำเอาสถาปัตยกรรม สีสัน แสงธรรมชาติ และดีไซน์มารวมเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ส่วน ส่วนหน้าอาคาร ทรงหลังคาเปรียบดั่งหลังมังกร กระเบื้องเป็นเกล็ดของมังกร มีดาบของเซนต์จอร์จ นักบุญผู้พิทักษ์เมืองบาร์เซโลน่าประดับติดอยู่ระเบียงคล้ายเปลือกหอยหรือกระดูก จนได้รับฉายาว่า Casa dels ossos (House of Bones)

lucrezia-carnelos-QqtwZwz2P8M-unsplash.jpg

การตกแต่งภายในของ Casa Batlló , Photo by Lucrezia Carnelos on Unsplash

ภายในตกแต่งโทนสีฟ้าด้วยคอนเซ็ปต์เมืองบาดาล ประตูหน้าต่างเว้าโค้ง โดยเฉพาะส่วนห้องรับแขกที่ประตูสามารถพับเก็บเพื่อขยายพื้นที่ยามจัดงานเลี้ยง การตกแต่งทั้งหมดไม่มีอะไรราบเรียบซึ่งเป็นไปตามหลักธรรมชาติว่า ไม่มีอะไรเรียบแบนหรือเป็นเส้นตรง และ Casa Batlló  ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานทางเชิงพาณิชย์ชิ้นสุดท้ายก่อนที่เขาจะหันไปอุทิศชีวิตให้กับ Sagrada Familia กระทั่งปี ค.ศ. 1994 Casa Batlló ได้ตกเป็นของครอบครัว Bernat เจ้าของลูกอมยี่ห้อดัง Chupa Chups และเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในวันที่เกาดี้มีอายุครบ 150 ปี หากเขายังมีชีวิตอยู่ Casa Batlló จึงเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมในปี 2002 แม้เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านที่สร้างโดยน้ำพักน้ำแรงของเกาดี้จะถูกแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่โครงสร้างทุกอย่างยังงดงามแจ่มชัด

daniel-corneschi-N6HTCyN50p0-unsplash.jpg

Güell Pavilions , Photo by Daniel Corneschi on Unsplash

จาก Casa Batlló รถทัวร์มุ่งหน้าสู่ Les Corts de Sarrià quarter เพื่อพาชมทางเข้าและรั้วกำแพงรูปมังกรของ Miralles Estate ซึ่งเกาดี้ได้สร้างไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1901 – 1902 โดยเป็นย่านอาศัยของสหายนามว่า Hermenegild Miralles Anglès จากนั้นแวะชมความเป็นเจ้าไอเดียแห่งการรีไซเคิลของเกาดี้ได้ที่ Güell Pavilions กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ในแถบชานเมือง Pedralbes ซึ่งเคยเป็นของท่านเคานต์ Eusebi Güell ไกด์รุ่นคุณป้านามว่า Somnia Bisbe จาก Barcelona Guide Bureau ค่อยๆ เผยถึงความสำคัญของบุคคลท่านนี้ให้เราฟังอย่างละเอียด ใน ค.ศ. 1911 King Alfonso XIII ได้ยกฐานะให้ Eusebi Güell เป็นท่านเคานต์เมื่อเขาได้บริจาคที่ดิน รวมถึงบ้านพักฤดูร้อนของตนให้กับราชวงศ์สเปนนำไปใช้เป็นพระราชวัง 
ดังนั้นการมี Eusebi Güell เป็นผู้อุปถัมภ์จึงทำให้เกาดี้ได้มีเวทีแจ้งเกิด เนื่องจากสมัยก่อนสถาปนิกระดับล่างจะได้รับทำงานให้กับชนชั้นสูงนั้นมีความเป็นไปได้ยาก โดย Eusebi Güell เกิดความประทับใจในเฟอร์นิเจอร์ที่เขาซื้อจึงได้สอบถามกับคนขาย ทำให้เขาได้รู้ว่าผู้ออกแบบนั้นเป็นถึงสถาปนิกมีนามว่า แอนโตนิ เกาดี้ ตั้งแต่นั้นมาเกาดี้ก็ได้รับความไว้วางใจและสร้างให้ตึกของ Eusebi Güell แตกต่างจากใครในเมืองนี้โดยเริ่มจากประตูทางเข้าของ Güell Pavilions ซึ่งปัจจุบันตกเป็นของ University of Barcelona (Universitat Politècnica de Catalunya) ซึ่งที่นี่เองที่เกาดี้ได้คิดไอเดียในการสร้างปล่องไฟโดยใช้เทคนิคการตกแต่งด้วยเศษกระเบื้องประดับต่างๆ เป็นครั้งแรก หลายคนคงคุ้นกับภาพปล่องไฟของ Casa Milà ที่ถนน Paseo De Gracia เป็นอย่างดี โดยเทคนิคการตกแต่งปล่องไฟแบบนี้เรียกว่า Trencadís ตามภาษาคาตาลันแปลว่า Broken นอกจากนี้ประตูเหล็กของ Güell Pavilions ก็ยังโดดเด่นด้วยการนำวัสดุเก่ามาประดิษฐ์เป็นตัวมังกร อาทิ ส่วนปีกจากตะแกรง มีตาเป็นลูกแก้ว โดยมังกรนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานมังกรผู้พิทักษ์ของ Hesperides ผู้พ่ายแพ้ต่อเฮอร์คิวลิส  
cripta-guell.jfif

Church of Colònia Güell  Photo by  https://www.casabatllo.es/en/antoni-gaudi/guell-crypt/

เพียง 15 นาทีเราก็เดินทางถึง Colonia Güell Crypt อดีตนิคมอุตสาหกรรมโรงงานสิ่งทอที่ Eusebi Güell เป็นเจ้าของ ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมสิ่งทอในบาร์เซโลน่ารุ่งเรืองถึงขีดสุดในปลายศตวรรษที่ 19 จนทำให้ได้รับฉายาว่า เป็น Manchester ที่ 2 โดยนำเข้าฝ้ายจากรัฐอะลาบามาและอียิปต์ แต่สุดท้ายโรงงานก็ต้องปิดตัวลงเมื่อปี 1973ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจยุโรปย่ำแย่ ปัจจุบันโรงงานกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้เรื่องการทำสิ่งทอในอดีต ด้านบนอุทิศให้กับประวัติของเกาดี้และการอธิบายสัญลักษณ์ทางคริสตศาสนาต่างๆ ที่ประดับโบสถ์  Church of Colònia Güell ทางเดินwxสู่โบสถ์อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นลักษณะเนินสูงอยู่เล็กน้อย ผู้ร่วมทัวร์วัยคุณปู่คุณย่าของเราจึงค่อยๆ เดินกันไป อันเป็นข้อดีที่ทำให้เรามีเวลาพิจารณาโบสถ์ขนาดกระท่อมหลังน้อยของเกาดี้ได้มากขึ้น เนื่องจากรายละเอียดมีมากมาย ว่ากันว่า โบสถ์แห่งนี้ล่ะคือโปรเจ็คทดลองก่อนที่เกาดี้จะสร้าง Sagrada Familia อันยิ่งใหญ่
ดังนั้นขนาดของโบสถ์จึงเทียบเท่ากับเศษส่วนเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ Sagrada Familia จุคนได้ 13,000 คน แต่ Church of Colònia Güell  จุคนได้ราวไม่เกิน 200 คน  ตัวโครงสร้างด้านนอกก่อสร้างจากหิน อิฐและซีเมนต์วับแวมด้วยการปะติดเศษกระเบื้องแบบ Trencadís เสาลักษณะคล้ายต้นปาล์มก่อด้วยอิฐบล็อกและซีเมนต์ หน้าต่างด้านนอกลักษณะคล้ายดวงตา รายละเอียดสัญลักษณ์ต่าง ๆ ยังคงชัดเจนแม้ว่าจะสร้างมาตั้งแต่ ค.ศ. 1908 ด้านในโบสถ์เงียบสงบ มีชาวคาทอลิกมานั่งสวดมนต์บ้างประปราย ในขณะที่จิตรกรชาวญี่ปุ่นกำลังใช้ดินสอร่างโครงสร้างภายในโบสถ์อย่างมีสมาธิ ที่นี่มักมีการจัดคอนเสิร์ตบ่อย ๆ เนื่องจากหลังคาต่ำทำให้การสะท้อนเสียงชัดเจนโดยไม่ต้องใช้ไมโครโฟน หน้าต่างดีไซน์เป็นรูปผีเสื้อแต่เมื่อเปิดปีกออกไปแล้วจะเหลือโครงเป็นรูปไม้กางเขน เราได้แต่ยืนชื่นชมว่าเป็นงานประดิษฐ์ที่งดงามและแฝงความเป็นนักคิดอย่างแท้จริง 
feri-l-COMTKL6CfDg-unsplash.jpg

Photo by Feri L on Unsplash

ความรู้สึกที่ชาวบาร์เซโลน่ามีต่อเกาดี้นั้นเป็นเรื่องที่เราเองก็ยังคงสงสัยอยู่เช่นกัน จนได้รับคำตอบจาก Ms. Clementina Milà ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Hotel Omm โรงแรมใจกลางเมืองที่ได้รับความนิยมจากเหล่าศิลปินและนักธุรกิจของบาร์เซโลน่า เราค้นพบโดยบังเอิญว่า เธอเป็นทายาทห่าง ๆ ของคฤหาสน์หลังงาม Casa Milà ซึ่งบนชั้นเทอเรซของโรงแรมออมสามารถมองเห็นบรรดาปล่องไฟอันเป็นสัญลักษณ์ของ Casa Milà ได้อย่างแจ่มชัด ในระหว่างที่เรากำลังนั่งสนทนากับเธอถึงความรู้สึกของชาวคาตาลันที่มีต่อเกาดี้ เธอได้เล่าถึงสมัยเด็กๆ ว่า ตอนที่พ่อของเธอได้พาไป Casa Milà ครั้งแรกนั้น เธอเองกลับรู้สึกไม่ชอบเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่า บ้านหลังนี้ใหญ่เกินไปและสีสันทุกอย่างก็ดูเกินจริง ในขณะที่บ้านหลังอื่นๆ มีขนาดเล็ก เรียกได้ว่าใหญ่โตกว่าคนอื่นหลายเท่า จนชาวบ้านพากันเรียกที่นี่ว่า La Pedrera ซึ่งคือชื่อเหมืองหินในแถบบาร์เซโลน่าที่เกาดี้ไปนำหินจากเหมืองนี้มาสร้างบ้านนั่นเอง โดย Casa Milà มีลักษณะเหมือนกับถ้ำของชาวแอฟริกัน แต่เมื่อกาลเวลาพ้นผ่าน ปัจจุบันบาร์เซโลน่ากลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมด้วยมีเกาดี้เป็นจุดสนใจ นำพามาซึ่งความมั่งคั่งของแคว้นคาตาลันญ่า ดังนั้นแล้วชาวคาตาลันในยุคปัจจุบันจึงมีแต่ความชื่นชมและรู้สึกขอบคุณ เพราะแม้ปัจจุบันเศรษฐกิจสเปนจะตกต่ำอย่างไร แต่เรื่องการท่องเที่ยวแล้วไม่ได้ผลมีกระทบต่อบาร์เซโลน่าเลยสักนิด   

ภายในมหาวิหาร Sagrada Familia 

จะมีสถาปัตยกรรมใดที่ยิ่งใหญ่เหมาะสมกับท้องฟ้าอันสดใสของบาร์เซโลน่า หากมิใช่มหาวิหารซากราดา ฟามิลิยา (Sagrada Familia)ตั้งอยู่บนถนน Carrer de Mallorca ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อ ค.ศ. 1883สิ่งก่อสร้างที่เกาดี้อุทิศตนให้เนิ่นนาน 43 ปีจนลมหายใจสุดท้าย ซึ่งในขณะที่เขามีชีวิตอยู่นั้นเขาสร้างได้เพียง 15 – 25% ของโบสถ์ในปัจจุบันที่เห็น ความเป็นอัจฉะริยะของเกาดี้ถ่ายทอดด้วยการร่างแบบเอาไว้ล่วงหน้า เพราะเขาคิดแล้วว่าโบสถ์นี้จะไม่มีวันสำเร็จในคนรุ่นเขาเป็นแน่ โดยคุณสามารถชมการออกแบบได้ที่ห้องใต้ดิน ลักษณะโบสถ์ยิ่งใหญ่อลังการยาว 95 เมตร และกว้าง 60 เมตรและสูงถึง 170 เมตร ผู้คนหลั่งไหลเดินเข้าโบสถ์ราวกับมีมหกรรมเซลครั้งใหญ่ เพื่อประหยัดเวลาแนะนำให้จองตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ตล่วงหน้า เมื่อก้าวเข้าไปแล้วรับรู้ถึงความรู้สึกเย็นใจยิ่งนัก ภายในโบสถ์ส่องสว่างราวกับลำแสงนำชีวิต ชาวคริสต์ที่ดีกำลังนั่งร่ายบทสวดต่อหน้าแท่นพิธีอย่างตั้งใจ นักท่องเที่ยวทุกคนต่างหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพแบบไม่ยั้ง 
ผู้ก่อตั้งริเริ่มมหาวิหารแห่งนี้คือ พ่อค้าหนังสือนามว่า Josep Maria Bocabella i Verdaguer ส่วนสถาปนิกที่รับงานมาตอนแรกตั้งใจให้โบสถ์เป็นสไตล์โกธิค แต่เมื่อเกาดี้ได้เข้ามาสานงานต่อ คอนเซ็ปต์การตกแต่งทุกอย่างจึงเปลี่ยนไปในแบบ Modernism ภายนอกมหาวิหารวิจิตรอลังการด้วยโมเสคของเวเนเชี่ยน มีรูปปั้นแกะสลักเสลาโดยการรวมพลของศิลปินชาวสเปน ภายในตราตรึงสัมผัสราวกับวิมานของเหล่าเทพธิดา ถือเป็นบุญวาสนาของมนุษย์บนดินอย่างเราได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือน ตรงหลังแท่นพิธีมีห้องใต้ดินที่ว่ากันว่าเป็นที่สถิตของเกาดี้ชั่วนิรันดร์ เราเห็นแสงเทียนสีแดงจุดประกายเพื่อถวายความศรัทธาแด่ท่านผู้ยิ่งใหญ่ ความรู้สึกตื้นตันใจเกิดขึ้นเมื่อจินตนาการว่า ดวงวิญญาณของเกาดี้อาจจะยังไม่ไปไหน เพื่ออยู่รอดูวันที่มหาวิหารแห่งนี้สร้างสำเร็จก็เป็นได้ ซึ่งหลังจากที่เกาดี้เสียชีวิตลงในวัย 73 ปี จากอุบัติเหตุรถรางชน ต่อมาได้เกิดปัญหาสงครามศาสนาจึงหยุดชะงักการสร้างไป จนปี ค.ศ. 1952 การก่อสร้างโบสถ์ก็กลับมาดำเนินต่อ นำพามาซึ่งนักเดินทางที่สละค่าผ่านประตูเพื่อนำไปเป็นรายได้ในการสานต่อความฝันของเกาดี้ หากมหาวิหารนี้สร้างเสร็จจะมีหอคอยทั้งหมด 18 หอคอย ซึ่งปัจจุบันสร้างเสร็จไปแค่ 8 หอคอย โดยบรรดาศิลปินผู้ร่วมสืบสานสร้างมหาวิหารวาดหวังว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2026-2028 เพื่อเป็นการรำลึกถึงการจากไปของเกาดี้ครบ 1 ศตวรรษ เราเดินไปส่วนด้านหลังโบสถ์ยังพบส่วนประกอบต่างๆ ที่รอคอยการประกอบ เห็นแล้วก็อดเอาใจช่วยไม่ได้ นับถอยหลังกันยาวๆ อีกแค่ 14 ปีเท่านั้น ที่ฉายา “โบสถ์ที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ” จะถูกลบเลือนไป
w-k-D1nSvOobkJM-unsplash.jpg

La Seu Cathedral Photo by W K on Unsplash

ความเป็นนักเดินทางและมีสไตล์เป็นของตนเองทำให้การแต่งตัวของชาวคาตาลันแตกต่างจากสเปนส่วนอื่นๆ ในแมดริดผู้คนดูหล่อสวยแบบคลาสสิก แต่สำหรับชาวบาร์เซโลน่าพวกเขาแต่งกายอย่างมีชั้นเชิงและดูดี หนุ่มสาวนักช้อปทั้งหลายแวะเช็คแฟชั่นเทรนด์ล่าสุดของชาวบาร์เซโลน่ากันได้ที่ย่าน Born หรือถ้าชอบอารมณ์เมืองแบบย้อนยุคชวนคุณหลงไปในแถบ Barri Gòtic ที่สร้างมาตั้งแต่ยุคโรมัน มีโบสถ์หินสวยสง่านาม La Seu Cathedral ให้เข้าไปชื่นชมแบบไม่ต้องต่อคิวยาวเหยียดรวมถึง Carrer del Bisbe Irurita (Street of the bishop) ทางเดินเชื่อมตึกของบิชอปสมัยปลายศตวรรษที่ 12 – 13 ซึ่งสลักเสลาช่องหน้าต่างทางเดินได้วิจิตรบรรจงในแบบศิลปะโกธิค ซึ่งความงดงามดังกล่าวนี้ยังคงเป็นเหมือนครั้นอดีตอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ระหว่างวันมีวณิพกเล่นเครื่องดนตรีคอยขับกล่อม ยินยลบทเพลง Romance ผ่านเส้นสายกีตาร์คลาสสิกที่ลอยลมมาจากมุมใดมุมหนึ่ง เราต่างปล่อยใจไปกับเสียงเพลงอันแสนโรแมนติกพร้อมสองเท้าก้าวไปตามถนนหินที่ผ่านคืนวานมาเนิ่นนาน
เช้าสายบ่ายเย็นความสนุกรอคุณอยู่ที่ La Rambras ผู้คนขวักไขว่ราวกับมีปาร์ตี้บันเทิงใจ แวะอิ่มหนำที่ Mercat De Boqueria ตลาดขายอาหารและสินค้าพื้นเมือง ทั้งของสด ผักผลไม้ เครื่องเทศสีสันจัดจ้าน อิ่มอร่อยด้วยอาหารคำเล็กๆ แบบพินโช (Pintxo) ที่ปรุงสดเสียบไม้ไว้รอท่า จนถึงนั่งแช่กันในร้านอาหารซีฟู้ดแผงลอยราคาเป็นมิตรแต่ได้อรรถรสของความเป็นท้องถิ่นที่สุด จากตลาดเดินมุ่งไปทางใต้สู่ Port de Barcelona ที่ยามเย็นชาวบาร์เซโลน่าและนักท่องโลกทั้งหลายมักมานั่งพักผ่อนผ่อนชมแสงสุดท้ายของวัน รูปปั้นโคลัมบัสยืนสง่านิ้วชี้ไปยังอเมริกาดินแดนแห่งเสรีภาพ เหล่านกนางนวลบินโฉบไปมาสร้างความหรรษาเล็กๆ น้อยๆ แผงขายวาฟเฟิลส่งกลิ่นหอมยั่วน้ำลาย ลมเย็นอ่อนโยนชวนให้คู่รักหลายคู่เดินจูงมือเคล้าเคลีย จาก Port de Barcelona เดินมาไม่ไกล เราจับจองที่นั่งใน Flamenco Tablao Corobés (Tablaocordobes.com) ภัตตาคารบุฟเฟ่ต์แบบสแปนิชครบรสพร้อมชมโชว์ระบำฟลาเมนโกตบท้าย ด้วยจังหวะลีลาอันแสนเร้าใจของนักเต้นช่วยสร้างความบันเทิงยามราตรีอันทรงคุณค่า แต่ถ้าหากคุณคาดหวังว่า จะได้ชิมทาปาสรสเยี่ยม แนะนำให้สอบถามพูดคุยกับคอนเซียจของโรงแรมหรือพนักงานตามร้านอาหาร ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจและพร้อมที่จะแชร์ข้อมูลรับรองว่า คุณจะได้ร้านเด็ดประจำถิ่นมาได้มากกว่าหนึ่งร้าน อาทิ  Comerç, 24 (comerc24.com) โดยเชฟ Carles Abellan ผู้ประจำการจาก W Barcelona มาเปิดร้านเป็นของตนเอง แต่หากงบมีจำกัดแนะนำ Grill Room (8 Carrer dels Escudellers) ร้านเล็กๆ ในแถบย่านเก่า Barri Gòtic
larocavillage.jpg

ห่างจากบาร์เซโลน่ามาราว 40 นาทีทางรถยนต์เดินทางสู่ La Roca Village (www.larocavillage.com) แหล่งรวมเอาท์เล็ทสิ้นค้าแฟชั่นแบรนด์เนมระดับโลกและท้องถิ่นกว่า 100 ช็อปที่มอบส่วนลดมากกว่า40 – 50 % ร้านค้าจัดเป็นช็อปเล็กๆ ด้านบนเลียนแบบบ้านของชาวคาตาลันที่ประดับด้วยระเบียงกระถางต้นไม้ และธงคาตาลัน แบรนด์น่าสนใจอาทิ ช็อปของทีมฟุตบอลบาร์ซา รองเท้า Camper เสื้อผ้าผู้หญิงของ Custoที่มีลูกค้าประจำคือจูเลีย โรเบิร์ต Bimba & Lola งานดีไซน์ของชาวคาตาลันที่เรียกลูกค้าเต็มตลอด Munich ร้านรองเท้าแฟชั่นยอดนิยมของหนุ่มสเปน Tous จำหน่ายเครื่องประดับหรูตั้งแต่นาฬิกาจนถึงเครื่องเพชร มาเดินที่นี่จึงเหมือนคุณได้ออกสำรวจหมู่บ้านสินค้า มีมุมสนามเล่น ร้านอาหารและร้านกาแฟให้นั่งพักหย่อนใจ แนะนำให้ชิมแฮมคุณภาพหมัก 3 ปีที่ชาวสเปนเรียกว่า Jamón จากร้าน Andreu หรือชิมสเต็กชั้นดีที่ร้าน Pasarela การดื่มด่ำอาหารในแต่ละมื้อทำให้เห็นว่า ชาวสเปนรักช่วงเวลานี้แค่ไหนพวกเขานั่งแช่กันอยู่นานและพูดคุยกันอย่างออกรสชาติ ไม่มีคนไหนมานั่งกินคนเดียวเหมือนที่ชาวลอนดอนทำกัน และถ้าจะให้ครบสูตรแบบสแปนิชแท้ล่ะก็ต้องปิดท้ายมื้อด้วย Cortado หรือเอสเปรสโซ่รสเข้มข้น กระดกแก้วเดียวเป็นอันตื่น! 

palau-musica-catalana.jpeg
นอกจากสถาปัตยกรรมเก่าใหม่ที่ยังเคียงคู่บาร์เซโลน่าแล้ว การได้พูดคุยกับชาวคาตาลัน(ชนชาติที่พูดภาษาโรมานซ์ ที่ได้แทรกอยู่ในที่ต่าง ๆ ในยุโรปรวมทั้งสเปน) ก็เป็นอีกสิ่งที่ชวนให้เพลิดเพลิน เพราะทุกคำถามที่นักท่องเที่ยวอยากรู้มักมีคำตอบกลับมาให้เสมอ จนจับความรู้สึกได้ว่าชาวคาตาลันภูมิใจในวัฒนธรรมและอาหารของบ้านตัวเอง พิพิธภัณฑ์และแกลลอรี่คือสถานบันเทิงชั้นดีที่ได้รับการเยี่ยมเยือนอยู่ตลอดเวลา ถ้าถามว่า ชาวคาตาลันรักศิลปะมากแค่ไหน ขอให้ได้ลองไปชมโชว์ที่โรงอุปรากร Palau Música Catalana เพียงเท่านี้คุณก็พอจะจินตนาการได้แล้วว่า ผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตกันอย่างสนุกสนาน แม้ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ออกข่าวโครมๆ จะทำให้ชาวคาตาลันหลายคนว่างงาน แต่พวกเขายังคงมองโลกในแง่ดี ไม่มานั่งจับเจ่าเฉาชีวิต เราได้ยินมาว่า สถาปนิกบางคนปรับตัวเองไปเป็นไกด์ได้อย่างไม่รีรอโอกาสบ่อยครั้งที่วลีอมตะของอาโนลด์ ทอยน์บี (Arnold Toynbee) นักเขียนชาวอังกฤษมักกังวานอยู่ในหัว “See Angkor Wat and Die” เราคงจะเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อแม้หากไม่ได้มาเยือนบาร์เซโลน่าเสียก่อน เพราะเมื่อได้มาเยือนสวนอีเดนแห่งนี้แล้วก็ค้นพบว่า ชีวิตเป็นเรื่องแสนสนุก ฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบหมดลมหายใจจนกว่าคุณจะได้มาเห็นบาร์เซโลน่าSee Barcelona and Live your Life!
bottom of page