top of page
Sangkhlaburi Ordinary Beautiful
สายลมอ่อนๆ ท้องฟ้าระบายด้วยหมู่เมฆสีเทาสลับสีฟ้าขาวบ่งบอกฤดูกาล พาให้นึกถึงสถานที่สุขสงบ
ณ ตะวันตกสุดขอบประเทศ
สายลมอ่อนๆ ท้องฟ้าระบายด้วยหมู่เมฆสีเทาสลับสีฟ้าขาวบ่งบอกฤดูกาล พาให้นึกถึงสถานที่สุขสงบ ณ ตะวันตกสุดขอบประเทศ คิดเรื่อยเปื่อยไม่ทันไรตาเหลือบไปเห็นภาพเมืองเล็กกลางหุบเขาที่เหล่าเพื่อนแชร์ไว้บนเฟสบุ๊ค ธรรมชาติบริสุทธิ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีซึ่งมัดใจนักเดินทางทำให้สังขละบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยังมีรากเหง้าของคนมอญอันยากจะถอนด้วยวิถีเที่ยวของคนเมือง เสี้ยววินาทีที่คิดได้ความทะยานอยากก็พาให้คว้ากล้องมุ่งหน้าทิ้งป่าคอนกรีตไว้เบื้องหลัง
DSC_0543.jpg
DSC_0861.jpg
DSC_0612.jpg
DSC_0543.jpg
1/3
WHERE TO STAY
Love Bridge House Resort200/3 หมู่ 3 ซอยสามประสบ ตำบลหนองลูอำเภอสังขละบุรี กาญจนบุรี 71240โทร. 034-595-385, 034-595-358, 089-228-8782
www.love-bridge-house.com
SPECIAL THANKSททท. สำนักงานกาญจนบุรีwww.tourismthailand.org/kanchanaburiการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยโทร. 1672 www.tourismthailand.org
ในปี พ.ศ. 2494 หลวงพ่ออุตตมะทราบข่าวว่ามีชาวมอญอพยพจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า บ้านเกิดของท่าน หลวงพ่อจึงเดินทางมาพบและพามอญอพยพทั้งหมดมาอาศัยที่บ้านวังกะล่าง อำเภอสังขละบุรี นับเป็นจุดกำเนิดแรกเริ่มของชุมชนชาวมอญ
มอญ กระเหรี่ยง และคนไทยที่อาศัยอยู่ในสังขละบุรีให้ความเคารพรักต่อหลวงพ่ออุตตมะเป็นอย่างมาก จึงช่วยกันสร้างวัดวังก์วิเวการามขึ้น แต่ต่อมาวัดก็ต้องจมอยู่ใต้น้ำหลังเปิดเขื่อนวชิราลงกรณ์ใน พ.ศ. 2527 หลวงพ่อจึงพาชาวบ้านอพยพมาสร้างหมู่บ้านบนเนินเขาและวัดวังก์วิเวการามหลังใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันหลวงพ่ออุตตมะละสังขารไปในปี พ.ศ. 2549 แต่ศพของท่านยังได้รับการเก็บรักษาไว้ในปราสาทไม้ 9 ยอด
แม้ว่าจะย้ายถิ่นฐานมานานแล้ว แต่ประเพณีที่ติดตัวมายังคงอยู่ ลอยเรือสะเดาะเคราะห์ในภาษามอญ (รามัญ) เรียกว่า “โปฮะมอด บาง” แปลว่า การถวายเครื่องเซ่นไหว้ลงในเรือ จัดขึ้นทุกปีในช่วงใกล้ออกพรรษา ถือฤกษ์วันขึ้น 14 - 15 ค่ำและแรม 1 ค่ำเดือน 10 เป็นสำคัญ เพื่อไหว้บูชาพระรัตนตรัยและเหล่าเทวดาที่ปกปักรักษาคุ้มครองตน มีต้นทางความเชื่อตามเรื่องราวครั้งเก่า
ที่เล่าว่า เรือสำเภาของคณะสงฆ์ได้พลัดหลงกับเรืออีกลำ ขณะเดินทางกลับจากศรีลังกา จึงตั้งเครื่องบูชาบวงสรวงเทวดาผู้รักษาผืนน้ำผืนดินช่วยนำทาง จนสุดท้ายกลับถึงเมืองมอญอย่างปลอดภัย เครื่องเซ่นไหว้ที่นำมาถวายนั้นไม่ได้จัดไว้ขาย แต่ชาวบ้านจัดเตรียมไว้ด้วยใจศรัทธาไม่ว่านักท่องเที่ยวหรือใครที่ไม่ได้เตรียมของมาก็สามารถหยิบไปถวายได้เพราะชาวมอญเชื่อว่าการให้เป็นบุญกุศล เรือที่ใช้ลอยก็เช่นกัน..ชาวบ้านทั่วทั้งสังขละบุรีลงแรงต่อเป็นลำเรือ ไม้ไผ่ที่ใช้ต่อได้มาจากทุกครอบครัว ครอบครัวละหนึ่งลำไผ่ ของไหว้ดั้งเดิมมี 9 อย่าง ข้าวสวย ข้าวตอก กล้วยน้ำว้า ถั่วตัด หมากพลู น้ำเปล่า ธงกระดาษ(ตง) อ้อยส้มโอ และปัจจุบันเติมอย่างที่สิบคือขนมข้าวต้ม ทุกสิ่งจัดรวมไว้ในจานเดียว หนึ่งคนหนึ่งชุดวางลงในเรือ ในวันสุดท้ายของประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ชาวไทย ชาวมอญ นักท่องเที่ยว ทั้งหลายต่างช่วยกันเคลื่อนลำเรือไปยังท่าน้ำด้านหลังวัดอันเป็นจุดลอยเรือมุ่งหน้าหาสามประสบ ที่ที่สองแม่น้ำหนึ่งลำห้วยมาบรรจบกัน ไม่ได้มีแค่ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ แต่เป็นเวลาเหมาะสำหรับตักบาตรดอกไม้ ตักบาตรน้ำผึ้งหรือน้ำมันงาซึ่งแฝงความเชื่อเรื่องความห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ เพราะว่าสมัยก่อนนั้นน้ำผึ้ง น้ำมันงาคือยาสำคัญ ประเพณีจากศรัทธาสะท้อนการกินอยู่และชีวิตของท้องถิ่น คล้ายเดินทางย้อนเวลาสู่ยุคที่ผู้คนยังให้ความเคารพบรรพบุรุษและศาสนาพุทธเป็นอันดับต้น ภาพชาวบ้านนั่งลงไหว้เมื่อพระเดินผ่านแม้ยามฝนตกยังเห็นได้ ศรัทธา ณ ที่แห่งนี้ยังไม่เสื่อมลงแม้สังคมเมืองจะรุกคืบ
ล่องแพมา ณ จุดบรรจบของสองแม่น้ำหนึ่งลำห้วย ซองกาเลีย รันตีและบิคลี่ มีโบสถ์กลางน้ำ หรือเมืองบาดาลเป็นชื่อเล่นใช้เรียกวัดวังก์วิเวการามเก่า อีกหนึ่งเสน่ห์ของการมาเยือนสังขละฯ ภาพสวยงามเปลี่ยนตามฤดูกาล และปริมาณน้ำสูงต่ำสร้างให้วิวต่างกัน แพลอยแล่นผ่านวัดกลางน้ำมาได้ไม่ทันไรก็ถึงจุดเดินเท้าเข้าสู้ป่า บนเนินเขาใต้เงาไม้พบกับโบสถ์ที่โอบรัดด้วยรากไทร วัดสมเด็จ(เก่า) สภาพยังค่อนข้างสมบูรณ์แม้ว่าจะถูกทิ้งร้างตั้งแต่วันเขื่อนเปิดในปี พ.ศ. 2527 เป็นวัดที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวรู้จัก แต่บรรยากาศสวยเหงาแปลกตา
เดินเล่นตามตรอกดูเครื่องไม้และเฟอร์นิเจอร์เพื่อรอเวลาเดินทางข้ามด่านเจดีย์สามองค์ไปเยือนฝั่งพม่าหรือเมืองพญาตองซู เส้นเขตแดนแบ่งภาษาสองฝั่งให้ต่างกัน แต่วิถีชีวิตกลับใกล้เคียง ชาวพม่ามาจับจ่ายใช้สอยช่วงสายที่ตลาดสด บรรยากาศคล้ายตลาดเล็กๆ ตามต่างจังหวัด หรือหมู่บ้านไกลตัวเมืองในไทย วางขายกันบนพื้นดินมีทั้งของกินและของใช้ ผ้าถุงแบบพม่า แป้งทานาคา ปลาแห้ง ผักสด หมากพลู และอาหารสำเร็จรูปอย่างหมูเสียบหรือหมูพะโล้ไม้ละ 1 บาท ของโปรดเจ้าถิ่นกินกันทีละยี่สิบสามสิบไม้ ชาวพม่าพญาตองซูให้ความเคารพพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก วัดเสาร้อยต้นคือศาลาหลังเก่าครั้งสมัยหลวงพ่ออุตมะมาจำพรรษา สร้างด้วยแรงศรัทธาจากไม้แดง หลังศาลามีพระพุทธรูปปูนปั้น 120 องค์เรียงแถวสู่เชิงเขาที่ประดิษฐานของเจดีย์ชเวดากององค์จำลองศูนย์รวมศรัทธาไม่ว่าไทย พม่า มอญหรือกะเหรี่ยง อากาศอันบริสุทธิ์แห่งเมืองสามประสบยังคงมนต์เสน่ห์เย้ายวนต่อผู้มาเยือน สะพานอุตตมะนุสรณ์ สะพานไม้ที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก สร้างขึ้นด้วยกำลังและแรงศรัทธา ทอดข้ามลำน้ำซองกาเลียเชื่อมวิถีของผู้คนสองฝั่งน้ำสามชนชาติให้ไปมาหาสู่กันได้ แม้ว่าจะเคยโดนน้ำป่าซัดพัง แต่ปัจจุบันก็กลับมาทำหน้าที่เดิมอีกครั้ง หวังเพียงว่ากระแสเชี่ยวแห่งการท่องเที่ยวจะไม่ฉีกศรัทธาวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีที่มีมายาวนาน เพราะสิ่งเหล่านี้คงไม่เหมือนสะพานที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ดังใจนึก
bottom of page